ธิดาดอย (ชาพญาไพร)

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

เทศกาลปีใหม่ลูกข่าง ( ค๊า ท๊อง พ๊า เออ)

1. ความสำคัญ
เทศกาลปีใหม่ลูกข่าง อาข่าเรียกว่า “ค๊า ท๊อง พ๊า เออ” หมายความว่า การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และหลังจากวันนี้เป็นต้นไป ทุกคนมีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ถ้ามีเด็กเกิดมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ลูกข่าง มีความเชื่อว่าผู้ใดเกิดในวันที่ 2 ของเทศกาลนี้ นับอายุเป็น 1 ปี แม้เกิดมาเพียง 1 วัน ถือว่าโชคร้าย และผู้ใดเกิดหลังวันที่ 3 ถือว่าโชคดี ปีใหม่ลูกข่างชาวอาข่าถือว่าเป็นปีใหม่ของผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายมีการเล่นลูกข่างในช่วงเทศกาลตลอด จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี หรือถ้าเป็นเดือนอาข่าเป็นเดือน “ท๊องลา” เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยว หลังจากการทำงานหนักมาทั้งปี เป็นการฉลองผลผลิตที่เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 4 วัน 3 คืน

 



เทศกาลประเพณีปีใหม่ลูกข่างชนเผ่าอาข่า

 

 

2. อุปกรณ์และเครื่องเซ่นไหว้
1. อุปกรณ์
1. ขันโตกเล็ก
2. ม้านั่งเล็ก 1 ตัว
3. กระบอกถ้วยที่เป็นไม้ไผ่เพื่อใส่เหล้า, เนื้อ, น้ำชา, จำนวน 3 ใบ
4. ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว จำนวน 2 ใบ
5. กระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่าจี้สี่) จำนวน 1 กระบอก
6. หลอดดูด 1 หลอดที่เป็นหลอดไผ่
7. ถ้วยรองเนื้อไก่ (ขึ่มหม่าหละด่า) จำนวน 1 ใบ
2. เครื่องเซ่นไหว้
1. น้ำบริสุทธิ์ (อี้จุ อี้ส้อ) คือน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
2. ข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) คือข้าวที่ต้มหรือข้าวที่นึ่งแล้วนำมาทำเป็นข้าวบริสุทธิ์
3. ข้าวเหนียวตำ ที่เรียกว่า ข้าวปุ๊ก (ห่อถ่อง) บิออกมาเป็นชิ้นๆ จำนวน 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้)
4. น้ำชาผสมกับขิง 1 กระบอก
5. ไก่ตัวผู้ หรือตัวแม่ 1 ตัว ใช้ส่วนของเนื้อไก่ 2 ชิ้น และตับไก่ 1 ชิ้น
6. เหล้าที่ดูดขึ้นมาจากกระบอกเหล้าพิธีที่ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้

3. ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

พิธีกรรมวันแรก เรียกว่า “จ่าแบ” วันประกอบพิธีกรรมบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
เช้าตรู่ ผู้หญิงอาข่าแต่งชุดชนเผ่าออกไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ (อี้จุ อี้ส้อ) หมายถึงน้ำบริสุทธิ์ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ก่อนที่จะตักน้ำจะต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาด โดยล้างมือ ล้างหน้า และล้างขา เสร็จใช้ขันที่ทำจากน้ำเต้า (อี้เจอ) ตักน้ำบริสุทธิ์ เมื่อกลับบ้านทำการแช่ข้าวเหนียวเพื่อตำเป็นข้าวปุ๊ก (ห่อถ่อง) เมื่อถึงเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้อาวุโสประกาศให้ชาวบ้านทำการนึ่งข้าวที่แช่ไว้พร้อมเพรียงกัน ในขณะที่รอข้าวสุกคั่วงาดำและตำให้ละเอียด เพื่อผสมกับข้าวปุ๊ก เมื่อข้าวสุกตักข้าวออกนิดหนึ่ง ทำเป็นข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) จากนั้นนำข้าวที่เหลือไปตำเป็นข้าวปุ๊กในครกขนาดใหญ่ ในขณะที่ตำข้าวปุ๊กไม่ให้เด็กเข้าใกล้ และผู้ตำข้าวปุ๊กต้องสวมหมวกในเวลาตำ เพื่อไม่ให้สิ่งต่าง ๆ ตกลงไปในครก ถ้ามีสิ่งใดตกลงไปทำให้ข้าวปุ๊กไม่บริสุทธิ์ จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
เมื่อตำข้าวเสร็จนำกลับบ้าน จากนั้นให้นำเครื่องเซ่นไหว้ออกจากตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ (เปาะเลาะเปาะทู้) นำมาล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ เมื่อล้างอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้เสร็จ เริ่มประกอบพิธีกรรม โดยนำข้าวปุ๊กบิออกมาเป็นชิ้น ๆ จำนวน 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้) แล้วใส่ไว้ในตะกร้าเครื่องเซ่นไหว้ ให้นำกระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่า จี้สี่) จำนวน 1 กระบอก โดยเทเศษขี้เถ้าที่อัดปิดกระบอกออกทิ้งบริเวณที่เตาไฟ และเสียบไม้ขนาดเท่าไม้จิ้มฟัน (จี้ฉ่อ) และหลอดดูด 1 หลอดที่เป็นหลอดไผ่ จากนั้นเอาถ้วย 1 ใบ พร้อมที่ตักน้ำใบเล็ก ๆ เพื่อใส่น้ำบริสุทธิ์ (อี้จ้อง) ไปตั้งไว้ตรงหน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม
จากนั้นไปจับไก่ตัวเมีย หรือตัวผู้ มา 1 ตัว ไก่ต้องเป็นขนสีดำหรือสีอื่น ๆ ยกเว้นไก่ขนสีขาว และต้องมีอวัยวะครบทุกส่วน ถือว่าเป็นไก่ที่บริสุทธิ์ จากนั้นใช้น้ำบริสุทธิ์ใส่ถ้วยที่ทำจากน้ำเต้า ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ โดยใช้ขันที่ทำจากน้ำเต้าขนาดเล็ก รดน้ำที่หัว ปีก และขา จุดละ 3 ครั้ง การรดด้วยน้ำบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นการชำระล้างไก่ให้บริสุทธิ์ จากนั้นตีหัวไก่ให้ตาย เมื่อไก่ตายสนิทแล้วทำการเผาและทำความสะอาด แต่อย่าใช้น้ำร้อนลวก ชำแหละและเวลางัดอกไก่ ต้องให้เครื่องในไก่ ติดอยู่ทางซี่โครง หากเครื่องในติดออกมาด้านส่วนอก ถือว่าผิดธรรมชาติ ต้องฆ่าไก่ตัวใหม่ สับไก่ใส่ในถ้วยรองเนื้อไก่ (ขึ่มหม่าหละด่า) ในถ้วยมีขิง และข้าวสารเหนียว ต้มกับเนื้อไก่ ต้องใช้ถ้วยรองเนื้อ เพื่อไม่ให้เนื้อไก่ตกลงพื้น เพราะถือว่าไม่สะอาด สำหรับชิ้นส่วนไก่ที่ใช้ในการเซ่นไหว้ จะมี น่องไก่, ตับไก่ และอกไก่ สำหรับตระกูลที่เซ่นไหว้โดยใช้ไก่ 3 ชิ้น บางตระกูลมีการเซ่นไหว้โดยใช้เนื้อไก่ 5 ชิ้น โดยเพิ่มส่วนปีก และเนื้อไก่อีก 1 ชิ้น เมื่อเนื้อไก่ที่ต้มสุกได้ที่แล้ว ให้นำขันโตกพิธีมาตั้งไว้เพื่อใส่เครื่องเซ่นไหว้ 5 อย่างดังนี้
1. นำข้าวปุ๊ก 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้) ใส่ในตะกร้าใบที่ 1
2. นำข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) ใส่ในตะกร้าใบที่ 2
3. น้ำชากับขิง ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใบที่ 1
4. ใส่เหล้าที่ดูดขึ้นมาจากกระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่าจี้สี่) ที่ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใบที่ 2
5. เนื้อไก่ 2 ชิ้น และตับไก่ 1 ชิ้น ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใบที่ 3

หลังจากที่เตรียมเครื่องเซ่นไหว้เสร็จแล้วโดยผู้ทำพิธีเป็นผู้ชาย ยกขันโตกไปตั้งไว้ที่หน้าตู้เครื่องเซ่นไหว้ “เปาะเลาะ เปาะทู้” ประมาณ 3 นาที เพื่อทำการบูชา ซึ่งช่วงนี้ต้องหันหลังให้กับขันโตกพิธี เพราะเชื่อว่า เทพเจ้าจะลงมารับประทานอาหาร จากนั้นยกขันโตกลงมาข้างล่าง ผู้ประกอบพิธีทานอาหารของเทพเจ้าเป็นคนแรก (อ่าเผ่วลอจ้าจ่าเออ) เมื่อผู้ประกอบพิธี ทานเสร็จแล้วให้สมาชิกคนอื่น ๆ ทาน เมื่อทานเสร็จกันแล้ว ทำการเก็บขันโตก อาหาร และเครื่องเซ่นไหว้ใส่ตู้ข้าวสาร หลังจากเก็บเครื่องเซ่นไหว้แล้วถือว่าพิธีกรรมวันแรกเสร็จสิ้น

 

 


ลูกข่าง ที่ใช้เล่นในช่วงเทศกาล

 

 

 

 


วันที่ 2 วันนี้เป็นวันทำลูกข่างอาข่าเรียกว่า “ฉ่อง” โดยช่วงเช้าเข้าไปในป่าเพื่อตัดไม้เนื้อแข็งทำเป็นลูกข่างขนาดของลูกข่างจะแตกต่างกัน ขนาดขึ้นอยู่กับความพอดีของผู้เล่นตามแต่ละวัย ผู้ใหญ่จะทำขนาดของลูกข่างความกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ถ้าเป็นเด็กทำขนาดความกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ลูกข่างที่นิยมนำมาเล่นมี 2 รูปแบบคือ ลูกข่างแบบมีหัว เป็นแบบต้นฉบับอาข่า ลูกข่างมีลักษณะปลายแหลม ด้านบนจะมีหัวขึ้นมา ความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร รูปแบบที่สองเป็นแบบไม่มีหัว ด้านบนจะตัดเรียบลูกข่าง เป็นฉบับของเผ่ามูเซอ (ลาหู่) ซึ่งตั้งกับพื้นได้ เมื่อทำเสร็จมีการละเล่นโดยมีวิธีการเล่นสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ วิธีการเล่นรูปแบบแรก โดยการแบ่งฝ่าย และตั้งลูกข่างเป็นแถวขว้างให้ถูกลูกข่างของฝ่ายตรงข้าม วิธีการเล่นแบบที่สองการเล่นโดยการใช้เชือกปั่นให้ลูกข่างหมุนแล้วตีลูกข่างโดยวิธีการหมุนเช่นกัน และเมื่อถึงหัวค่ำ จะมีประชาสัมพันธ์ชุมชน (หน่าบี้ หน่าเหง่อ) สอบถามแต่ละครอบครัว ต้องการเอาเนื้อสัตว์ที่จะฆ่าในวันรุ่งขึ้นจำนวนเท่าใด ซึ่งสิ่งนี้เป็นการสำรวจความต้องการ และนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะฆ่า หมู วัว หรือควาย (ส่า โข้ คา) เวลาประมาณ 19.00 น. ทำพิธีเก็บเครื่องเซ่นไหว้ (อ่าเผ่วล้อก่องอุเออ) ที่เก็บไว้ในวันแรกที่ตู้ข้าวสาร นอกจากนี้ในวันที่สองของเทศกาลปีใหม่เล่นลูกข่าง พอถึงกลางคืนในเวลาประมาณ 20.00 น. จะมีหนุ่มสาวพากันมาเต้นรำ กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ (บ่อฉ่อตุ-เออ) สามารถไปกระทุ้งกันที่บ้านใครก็ได้ที่มาเชื้อเชิญ มีความเชื่อว่าเป็นสิริมงคล มีโชคมีลาภ พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม ได้ผลผลิตดี และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บของครอบครัว วิธีการเล่นเป็นการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ มีการตีกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ อย่างสนุกสนาน ครอบครัวที่ทำเช่นนี้ได้ต้องมีฐานะดี โดยเล่นกัน ตลอดทั้งคืน มีการรินเหล้าให้กับกลุ่มหนุ่มสาว และให้ทานของว่าง พอรุ่งเช้ามีการฆ่าหมูเพื่อเลี้ยงแขก และผู้มากระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ เป็นการขอบคุณ

วันที่ 3 วันนี้อาข่าเรียกว่าเป็นวัน “ล้อดะ อ่าเผ่ว” คือการทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพื่อต้อนรับวันใหม่ และหลังจากวันนี้เป็นต้นไป ทุกคนมีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ดังนั้นอายุของอาข่าหากผู้ใดเกิดในวันที่ 2 ของเทศกาลนี้ถือว่าจะนับอายุเป็น 1 ปี แม้เกิดมามีอายุเพียง 1 วัน และตรงข้ามหากผู้ใดเกิดมาหลังวันที่ 3 ก็จะถือว่าโชคดี และในวันที่ 3 ทุกครอบครัวมีการฉลองตลอดวัน โดยเชิญแขกผู้อาวุโส และหมุนเวียนเข้าทุกครอบครัว พร้อมทั้งมีการอวยพรให้เจ้าบ้านประสบความสำเร็จ และมีการสู่เหล้าดื่มกันจนมีภาษิตอาข่าคือ “ค๊า ท๊อง จี้ ฉี่” แปลว่า ประเพณีดื่มเหล้าตลอดทั้งวัน พิธีต้อนรับวันใหม่ หรือ “ล่อดะ อ่าเผ่ว” จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ในเวลาประมาณ 04.30 น. “ล่อดะ อ่าเผ่ว” พิธีต้อนรับวันใหม่ มีพิธีเซ่นไหว้ ตั้งแต่เช้ามืด โดยไม่มีการฆ่าไก่ (บางครอบครัวก็ใช้ไก่ประกอบพิธีกรรม กรณีที่ใช้ไก่นั้น ขั้นตอนจะเหมือนกับวันที่ 1 เพียงแต่ประกอบพิธีต่างกันทำช่วงเช้า) กรณีที่ไม่ใช้ไก่เซ่นไหว้จะมีเครื่องเซ่นไหว้ เพียง 3 อย่าง ประกอบด้วย
- ข้าวเหนียวตำ (ข้าวปุ๊ก)
- ข้าวเหนียวบริสุทธิ์ไม่ได้ตำ (ห่อส้อ)
- น้ำชากับขิงใส่รวมกัน
โดยนำอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ทั้งหมดใส่บนขันโตกพิธี ทำการบูชาที่หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ ประมาณ 3 นาที แล้วให้ผู้ประกอบพิธีทาน สมาชิกในบ้านทาน เสร็จแล้วเก็บใส่ตู้ข้าวสาร พอฟ้าสว่างแล้วชาวบ้าน มีการฆ่าหมู หรือวัว ควาย แล้วแต่ชาวบ้านตกลงกัน เพื่อแบ่งเนื้อสัตว์ที่ฆ่าให้สมาชิกชุมชน เพื่อใช้ในการบริโภคฉลองในวันดังกล่าว ฉะนั้นบ้านแต่ละหลัง มีการเชิญแขกเข้าบ้านตัวเอง
ส่วนบ้านที่มีการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ มีการฆ่าหมูและเชิญผู้อาวุโสในหมู่บ้านและเชิญแขก ให้มาทานข้าวในบ้านของตน เป็นวันแห่งความสุขและสนุกสนาน ของเทศกาลปีใหม่ลูกข่างประจำปี
วันที่ 4 วันนี้เป็นวัน “จ่า ส่า” ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลประเพณีปีใหม่เล่นลูกข่างของอาข่า ไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไร นอกจากจะเล่นลูกข่าง และจะเริ่มพิธีอีกครั้งเมื่อเวลามาบรรจบอีกครั้งชาวบ้านผู้หญิงมีการเย็บผ้าอาข่าอยู่กับบ้าน ย และในเวลาประมาณ 19.00 น. ก็ทำพิธีเก็บอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ อาข่าเรียกว่า “อ่าเผ่วล่อก่องอุเออ” คือการทำความสะอาดเครื่องเซ่นไหว้แล้วไปเก็บใส่ตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ตามเดิม เป็นอันเสร็จพิธีกรรมบริบูรณ์

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 32,028 Today: 37 PageView/Month: 2,055

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...