ธิดาดอย (ชาพญาไพร)

 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ประเพณีไล่ผี (ค๊าแย๊ะ แย๊ะ เออ)

1. ความสำคัญ
ประเพณีไล่ผี เรียกว่า “ค๊าแย๊ะ แย๊ะ เออ” จัดขึ้นเดือนตุลาคมของทุกปี ตรงกับช่วงที่พืชมีผลผลิต และเริ่มเก็บเกี่ยว เช่น แตงโม แตงกวา พืชผักต่างๆ ประเพณีนี้จัดขึ้นมาเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน เช่น ภูตผีปีศาจ เชิญวิญญาณ สิ่งชั่วร้าย มาร ซาตาน สัมภเวสี ที่อาศัยอยู่ในชุมชน อาข่าเรียกว่า “แหนะ” รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยมีการแกะสลักไม้เนื้ออ่อน เป็นดาบ หอก ปืน เรียกอุปกรณ์ว่า “เตาะมา” เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน มีการตะโกนร้องดัง ๆ โดยเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน มีการแต่งหน้าโดยใช้สีให้ดูน่ากลัวที่สุด ส่วนในมือนั้นถือดาบ หรือหอกที่ทำจากไม้ที่มีลวดลาย การตกแต่งอย่างละเอียด เด็กรวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ คน เดินเข้าไปในแต่ละบ้าน โดยเข้าทาง ประตูหน้า ตะโกนร้อง เสียงดังว่า “โช้ โช้ลิโล ” เพื่อให้สิ่งไม่ดีต่างๆ ที่อยู่ในบ้านหวาดกลัว และออกไปจากบ้าน ขณะที่เด็กเข้าไปในบ้าน เด็กสามารถที่จะค้นหาผลไม้ต่างๆ มารับประทานได้ บางครอบครัวนำแตงกวามาวางไว้ให้เด็กได้ทาน จากนั้นเด็กเดินออกทางหลังบ้าน ระหว่างที่ออกไปมีการจุดปะทัด และยิงปืน ถือเป็นประเพณีที่นำไปสู่ฤดูกาลใหม่ คือเริ่มเข้าหน้าหนาว และหลังจากประเพณีนี้เสร็จ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย อาทิ การแต่งงาน การละเล่นเป่าแคน การออกไปล่าสัตว์ เสมือนประเพณีการออกพรรษาของชนเผ่าอาข่า


งานประเพณีไล่ผี หรืออาข่าเรียกว่า
ค๊า แย๊ะ แย๊ะ
 


 อุปกรณ์และเครื่องเซ่นไหว้
0. อุปกรณ์
1. ขันโตกเล็ก
2. ม้านั่งเล็ก 1 ตัว
3. กระบอกถ้วยที่เป็นไม้ไผ่เพื่อใส่เหล้า, เนื้อ, น้ำชา, จำนวน 3 ใบ
4. ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว จำนวน 2 ใบ
5. กระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่าจี้สี่) จำนวน 1 กระบอก
6. หลอดดูด 1 หลอดที่เป็นหลอดไผ่
7. ถ้วยรองเนื้อไก่ (ขึ่มหม่าหละด่า) จำนวน 1 ใบ


2. เครื่องเซ่นไหว้
1. น้ำบริสุทธิ์ (อี้จุ อี้ส้อ) คือน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
2. ข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) คือข้าวที่ต้มหรือข้าวที่นึ่งแล้วนำมาทำเป็นข้าวบริสุทธิ์
3. ข้าวเหนียวตำ ที่เรียกว่า ข้าวปุ๊ก (ห่อถ่อง) บิออกมาเป็นชิ้นๆ จำนวน 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้)
4. น้ำชาผสมกับขิง 1 กระบอก
5. ไก่ตัวผู้ หรือตัวเมีย 1 ตัว ใช้ส่วนของเนื้อไก่ 2 ชิ้น และตับไก่ 1 ชิ้น
6. เหล้าที่ดูดขึ้นมาจากกระบอกเหล้าพิธีที่ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้

3. ขั้นตอนการประกอบพิธี
วันที่ 1 การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว มีขั้นตอน ดังนี้
เช้าตรู่ ผู้หญิงอาข่าแต่งชุดชนเผ่าไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ (อี้จุ อี้ส้อ) หมายถึงน้ำบริสุทธิ์ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ก่อนที่จะตักน้ำจะต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาด โดยล้างมือ ล้างหน้า และล้างขาเสร็จใช้ขันที่ทำจากน้ำเต้า (อี้เจอ) ตักน้ำบริสุทธิ์ เพื่อนำมาใช้ในการทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษของวันนั้น เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ทำการแช่ข้าวเหนียว (ห่อ หย่อ ดือ – เออ) เพื่อตำเป็นข้าวปุ๊ก (ห่อถ่อง) ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้อาวุโสจะประกาศให้ชาวบ้านทำการนึ่งข้าวที่แช่ไว้พร้อมเพรียงกัน ในขณะที่รอข้าวสุกคั่วงาดำ และตำให้ละเอียด เพื่อผสมกับข้าวปุ๊ก เมื่อข้าวสุกตักข้าวออกนิดหนึ่ง เพื่อมาทำเป็นข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) จากนั้นนำข้าวที่เหลือไปตำเป็นข้าวปุ๊กในครกขนาดใหญ่ ขณะที่ตำข้าวปุ๊กไม่ให้เด็กมาอยู่ใกล้ และผู้ตำข้าวปุ๊กต้องสวมหมวกในเวลาตำด้วย เพื่อที่จะไม่ให้สิ่งต่าง ๆ ตกลงไปในครก ถ้ามีสิ่งต่าง ๆ ตกลงไปทำให้ข้าวปุ๊กไม่บริสุทธิ์ จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
เมื่อตำข้าวเสร็จนำกลับมาบ้าน จากนั้นให้นำเครื่องเซ่นไหว้ออกจากตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ (เปาะเลาะเปาะทู้) นำมาล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ เมื่อล้างอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้เสร็จ เริ่มประกอบพิธีกรรม โดยนำข้าวปุ๊กบิออกมาเป็นชิ้น ๆ จำนวน 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้) ใส่ไว้ในตะกร้าเครื่องเซ่นไหว้ ให้เอากระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่า จี้สี่) จำนวน 1 กระบอก โดยเทเศษขี้เถ้าที่อัดปิดกระบอกออกทิ้งบริเวณที่เตาไฟ และเสียบไม้ขนาดเท่าไม้จิ้มฟัน (จี้ฉ่อ) และหลอดดูด 1 หลอดที่เป็นหลอดไผ่ จากนั้นเอาถ้วย 1 ใบ พร้อมที่ตักน้ำใบเล็ก ๆ เพื่อใส่น้ำบริสุทธิ์ (อี้จ้อง) ไปตั้งไว้ตรงหน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม
จับไก่ตัวเมีย หรือตัวผู้ มา 1 ตัว ต้องเป็นขนสีดำหรือสีอื่น ๆ ยกเว้นไก่ขนสีขาว และต้องมีอวัยวะครบทุกส่วน ถือเป็นไก่บริสุทธิ์สามารถนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมได้ จากนั้นใช้น้ำบริสุทธิ์ใส่ถ้วยที่ทำจากน้ำเต้า ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ โดยใช้ขันที่ทำจากน้ำเต้าขนาดเล็ก รดน้ำที่หัว ปีก และขา จุดละ 3 ครั้ง การรดด้วยน้ำบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นการชำระล้างไก่ให้บริสุทธิ์ จากนั้นตีหัวไก่ให้ตาย เมื่อไก่ตายสนิททำการเผาและทำความสะอาด อย่าใช้น้ำร้อนลวก จากนั้นทำการชำแหละ งัดอกไก่ออก ต้องให้เครื่องในไก่ ติดอยู่ทางซี่โครง หากเครื่องในติดออกมาด้านส่วนอก ถือว่าผิดธรรมชาติ ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมได้ ต้องฆ่าไก่ตัวใหม่ จากนั้นสับไก่ใส่ในถ้วยรองเนื้อไก่ (ขึ่มหม่าหละด่า) ในถ้วยนี้มีขิง และข้าวสารเหนียว เพื่อต้มกับเนื้อไก่ สาเหตุที่ต้องใช้ถ้วยรองเนื้อป้องกันไม่ให้เนื้อไก่ตกลงพื้น เพราะถือว่าไม่สะอาด สำหรับชิ้นส่วนไก่ที่ใช้ในการเซ่นไหว้ มี น่องไก่, ตับไก่ และอกไก่ สำหรับตระกูลที่เซ่นไหว้โดยใช้ไก่ 3 ชิ้น บางตระกูลมีการเซ่นไหว้โดยใช้เนื้อไก่ 5 ชิ้น โดยเพิ่มส่วนปีก และเนื้อไก่อีก 1 ชิ้น เมื่อเนื้อไก่ที่ต้มสุกได้ที่แล้ว ให้นำขันโตกพิธีมาตั้งไว้เพื่อใส่เครื่องเซ่นไหว้ 5 อย่างดังนี้
1. นำข้าวปุ๊ก 3 ชิ้น (อ่าเผ่วล้อฮี้) ใส่ในตะกร้าใบที่ 1
2. นำข้าวบริสุทธิ์ (ห่อส้อ) ใส่ในตะกร้าใบที่ 2
3. น้ำชากับขิง ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใบที่ 1
4. ใส่เหล้าที่ดูดขึ้นมาจากกระบอกเหล้าพิธี (จี้บ่าจี้สี่) ที่ตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่
ใบที่ 2
5. เนื้อไก่ 2 ชิ้น และตับไก่ 1 ชิ้น ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ใบที่ 3

หลังจากที่เตรียมเครื่องเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ผู้ทำพิธีจะเป็นผู้ชาย ยกขันโตกไปตั้งไว้ที่หน้าตู้เครื่องเซ่นไหว้ (เปาะเลาะ เปาะทู้) ประมาณ 3 นาที เพื่อทำการบูชา ซึ่งช่วงนี้ต้องหันหลังให้กับขันโตกพิธี เพราะเชื่อว่า เทพเจ้าจะลงมารับประทานอาหาร จากนั้นยกขันโตกลงมาข้างล่าง ผู้ประกอบพิธีจะทานอาหารของเทพเจ้าเป็นคนแรก (อ่าเผ่วลอจ้าจ่าเออ) เมื่อผู้ประกอบพิธีทานเสร็จแล้วให้สมาชิกคนอื่น ๆ ทาน เมื่อทานเสร็จ เก็บขันโตก อาหาร และเครื่องเซ่นไหว้ใส่ตู้ข้าวสาร หลังจากเก็บเครื่องเซ่นไหว้แล้วก็ถือว่าพิธีกรรมวันแรกเสร็จสิ้น
อนึ่งช่วงที่มีการทำพิธี ทางชุมชนจะจัดบุคคลขึ้นมา 1 คน ซึ่งเป็นผู้อาวุโส เพื่อทำการปักตาแหลว “ตาแหลว 7 ตา” (สิหมะด้าแล้ ) เพื่อเป็นการแสดงถึง การป้องกัน คุ้มครอง ที่สำคัญเพื่อบ่งบอกให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาในชุมชนรู้ว่า หากเข้ามาในชุมชนแล้ว จะต้องอยู่ร่วมงานพิธี จะออกไปไม่ได้ หากอยู่ร่วมพิธีไม่ได้ก็ไม่ให้เข้ามา โดยจะปักไว้ทางทิศเหนือและทิศใต้ของชุมชน
วันที่ 2 เด็กจะทำเครื่องมือที่ใช้ในการไล่ผี โดยใช้ไม้เนื้ออ่อนแกะสลัก เป็นดาบ หอก ปืน (เตาะมา) เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชุมชน มีการตะโกนร้องดังๆ โดยเด็กในหมู่บ้าน มีการแต่งหน้าโดยใช้สีให้ดูน่ากลัวที่สุด ส่วนในมือนั้นถือดาบ หรือหอกที่ทำจากไม้ที่มีลวดลาย การตกแต่งอย่างละเอียด เด็กจะรวมกันเป็นกลุ่ม เดินเข้าไปไล่ผีในแต่ละบ้าน

 


ในช่วงเย็นนำอุปกรณ์ที่ใช้ไล่ผี (เตาะมา )นำไปทิ้งนอกประตูหมู่บ้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ในวันนี้เด็กๆ ไล่กันจนถึงเย็น ส่วนทางผู้นำศาสนาบุคคลผู้มีตำแหน่งรองผู้นำศาสนา (เจ่วหย่า) มีการประกอบพิธี “เจ่ว ยอง ล้อ” คือเป็นการไหว้ครูในตำแหน่งที่ยังคงดำรงอยู่โดยจะมีการเลี้ยงอาหารกับแขกที่มาร่วมงานและเชิญผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาร่วมงานด้วยขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม - นำหมู สีดำมา 1 ตัว ขนาดแล้วแต่หาได้ จับเข้าไปในบ้าน แล้วทำการตั้งกระบอกเหล้าพิธี พร้อมทั้งน้ำบริสุทธิ์ เพื่อรดน้ำหมู (อี้จ้อง) โดยตั้งไว้ที่เตาไฟฝั่งผู้ชาย จากนั้นให้เจ้าของบ้านซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้นำศาสนา (เจ่วหย่า) ทำการรดน้ำหมู จากขา ลำตัว และหัว จุดละ 3 ครั้ง แล้วใช้มีดในตำแหน่ง ฆ่าหมู หลังจากฆ่าเสร็จก็ทำการเผา เมื่อเผาและทำความสะอาดตัวหมูเสร็จ ชำแหละ เพื่อประกอบพิธี ซึ่งการทำอาหารนั้น จะต้องมีการลาบ ที่ใส่เลือด (แบยะเน้) และลาบที่ไม่ใส่เลือด (แบยะพยู้) เพื่อบูชาให้เทพเจ้าโดยเฉพาะ เมื่อทำอาหารเสร็จเชิญ แขก ผู้อาวุโส ร่วมรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ทำขั้นตอนต่อไปคือ
- การดูดเหล้าตอนเลิกวงอาหาร (จี้บ่าจี้สี่เต๊อะ) ให้เอากระบอกเหล้าพิธีกระบอกที่1 ที่ตั้งตอนที่ฆ่าหมู (หย่ะแสะผู่) กระบอกที่ 2 (เจ่วจี้ หม่อจี้) โดยทำการดูดเหล้าในกระบอกที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง แล้วมาดูดที่กระบอกที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นผู้อาวุโสจะอวยพรให้เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเสร็จพิธี เมื่อถึงตอนเย็น เด็ก และผู้ใหญ่ก็จะมารวมตัวกันที่บ้านของผู้นำศาสนา (เจ่วมา) และนำดาบที่แกะสลักทั้งหลาย แล้วเดินออกไปปักไว้ทางเข้าประตูหมู่บ้าน โดยก่อนที่จะมีการปัก มีการยิงปืนครั้งใหญ่ (ค๊าแย๊ะจู่เออ) คือการรวมตัวยิงปืน เป็นการส่งท้าย เมื่อยิงปืนเสร็จนำดาบใหญ่ (เตาะมา) ที่เป็นคู่ใหญ่ทำเสาพาด สิ่งนี้จะเป็นตัวที่ป้องกัน ไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาในหมู่บ้านอีก ส่วนดาบเล็กๆ ก็ปักไว้ข้างๆ เสาประตูหมู่บ้าน เสร็จจากแยกย้ายกันกลับบ้าน พอตกเย็น ทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เข้าตู้เก็บ (อ่าเผ่ว ล้อก่องอุ๊เออ) หลังจากเก็บเครื่องเซ่นไหว้แล้ว ถือว่าเสร็จสิ้นพิธี

Advertising Zone    Close

Online: 2 Visits: 32,019 Today: 28 PageView/Month: 2,043

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...